เครื่องตรวจเช็ครอยรั่วด้วยแก๊สฮีเลียม (Helium Leak Detector)
 
          เครื่องตรวจเช็ครอยรั่วด้วยแก๊สฮีเลียม (Helium Leak Detector; HLD) ภายในตัวเครื่องจะประกอบด้วย ส่วนที่ทําหน้าที่ตรวจจับแก๊สฮีเลียม คือ เครื่องแมสสเปกโตรมิเตอร์ (Mass spectrometer) เป็นเครื่องมือที่ใช้วิเคราะห์หาชนิดและปริมาณของแก๊ส และอีกส่วนจะเป็นส่วนของปั๊มสุญญากาศ (Vacuum Pump) ใช้สําหรับสร้างสภาวะสุญญากาศในระบบ และดูดแก๊สฮีเลียมเข้ามาในระบบ จากนั้นแก๊สฮีเลียมจะถูกตรวจจับด้วยเครื่องแมสสเปกโตรมิเตอร์ โดยตัวเครื่องจะทําการวิเคราะห์ปริมาณฮีเลียม เนื่องจากแก๊สฮีเลียมเป็นแก๊สเฉื่อยที่มีปริมาณน้อยในอากาศที่เราใช้หายใจ ประมาณ 5 ppm ทําปฎิกิริยาได้ยาก ไม่ติดไฟ และมีขนาดโมเลกุลเล็ก สามารถทะลุผ่านรอยรั่วเล็ก ๆ ของชิ้นงานที่ต้องการทดสอบได้ จึงนิยมนํามาใช้ในการทดสอบหารอยรั่วของชิ้นงาน

          อัตราการรั่ว (Leak rate) คือ ขนาดการรั่วไหลของแก๊ส ที่รั่วออกมาจากระบบในหนึ่งหน่วยเวลา ซึ่งการรั่วเหล่านี้จะทำให้ระดับความดันสุญญากาศในระบบลดลง ส่งผลให้การทำงานในระบบมีประสิทธิภาพลดลง คุณภาพในการผลิตชิ้นงาน (Product Quality) ภายใต้ความดันสุญญากาศก็จะลดลงไปด้วย สาเหตุที่ทำให้เกิดการรั่วมีหลายสาเหตุด้วยกัน อาจเกิดจากการรั่วภายในตัวระบบเอง หรืออาจเกิดจากความเสื่อมสภาพจากการใช้งานของอุปกรณ์ต่างๆในระบบ เช่น O-ring, ท่อ หรือข้อต่อต่างๆ ในปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้ระบบสุญญากาศมากมายในหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งอุตสาหกรรมอาหาร (Food & Packaging), อุตสาหกรรมยานยนต์ (Automotive Parts), อุตสาหกรรมการเคลือบผิววัสดุต่างๆ (Coating & Surface Treatment) ดังนั้นผู้ใช้งานจึงควรมีการตรวจเช็คระบบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการรั่ว (Leak Rate) ที่มากเกินไป จนทำให้มาตรฐานในการผลิตสินค้าต่ำลง หรือประสิทธิภาพการทำงานในระบบสุญญากาศลดลงจนไม่สามารถทำงานได้
 
เทคนิคในการตรวจเช็ครอยรั่วโดยใช้แก๊สฮีเลียม (Helium Leak Detection Techniques)
สามารถแบ่งออกได้เป็นสองประเภท คือ
 
1. แบบที่ใช้ระบบสุญญากาศ (Vacuum Methods)
          เป็นการใช้ระบบสุญญากาศช่วยในการทดสอบชิ้นงาน ซึ่งชิ้นงานทดสอบจะต้องสามารถทนต่อสภาพสุญญากาศได้ นิยมทำการทดสอบแบบสเปรย์ (Spraying Test) โดยการนำชิ้นงานที่จะทดสอบมาทำให้ภายในมีสภาพเป็นสุญญากาศ แล้วใช้ปืนยิงฮีเลียม (Spray Gun) ยิงฮีเลียมไปยังบริเวณที่จะตรวจสอบภายนอกชิ้นงาน หากชิ้นงานทดสอบมีรอยรั่ว โมเลกุลของฮีเลียมจะสามารถทะลุผ่านชิ้นงานเข้าไปด้านในและถูกตรวจจับด้วยตัวตรวจจับฮีเลียมก็จะทราบได้ว่ามีรอยรั่วที่บริเวณนี้
 
 
2. แบบที่ใช้การตรวจหาฮีเลียมภายนอก (Sniffing Methods)
          เป็นวิธีที่ไม่ใช้ระบบสุญญากาศ ใช้การอัดฮีเลียมเข้าไปในชิ้นงานทดสอบด้วยความดัน หากชิ้นงานทดสอบมีรอยรั่ว ฮีเลียมจะทะลุผ่านรอยรั่วออกมา ในการทดสอบจะใช้หัวตรวจจับฮีเลียม (Probe) ตรวจหาฮีเลียมบริเวณรอบ ๆ ชิ้นงานภายนอกการทดสอบรูปแบบนี้จะสามารถระบุตำแหน่งของชิ้นงานทดสอบที่เกิดรอยรั่วได้ และใช้สำหรับทดสอบชิ้นงานที่ไม่สามารถทนต่อสภาพสุญญากาศได้
 
 
 
 
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
 
 
 
 
 
 
 
 
 
Home   l   About us   l   Products   l   News   l   Promotion   l   Recruitment   l   Contacts    l   Download
Copyright © 2003-2011 www.saengvith200.com All Right Reserved.