เทคนิคการเคลือบฟิล์มบาง (Vapor Deposition)
 
          การตกเคลือบด้วยไอเคมี (Chemical Vapor Deposition, CVD) และ การตกเคลือบด้วยไอทางกายภาพ (Physical Vapor Deposition, PVD) ทั้งสองเทคนิคนี้ช่วยให้เราก้าวข้ามข้อจำกัดในงานวิศวกรรมพื้นผิวแบบเดิม โดยทำให้สับสเตรท (substrate) สามารถใช้งานได้หลากหลายตามชนิดของผิวเคลือบที่สังเคราะห์ได้ เช่น ป้องกันการสึกหรอและการกัดกร่อนที่อุณหภูมิสูง ปรับสภาพผิวให้ลื่นเพื่อลดความเสียดทาน และป้องกันการกัดกร่อนจากสารเคมีที่รุนแรง เป็นต้น
 
1. การตกเคลือบด้วยไอเคมี (Chemical Vapor Deposition, CVD)
          CVD เป็นเทคนิคการเคลือบฟิล์มบางประเภทหนึ่งที่ใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมไมโครอิเล็กทรอนิกส์สารกึ่งตัวนำ และอุปกรณ์ระบบเครื่องกลและไฟฟ้าจุลภาค (Microelectromechanical system, MEMS) ในชิ้นส่วนขนาดจุลภาคเหล่านี้จะประกอบด้วยชั้นฟิล์มบางของโลหะ สารกึ่งตัวนำ และฉนวนไฟฟ้าเรียงซ้อนกันเพื่อให้ได้สมบัติที่ต้องการ
          สาเหตุที่เทคนิคนี้มีชื่อว่า การตกเคลือบด้วยไอเคมี(CVD) มาจากหลักการพื้นฐานของเทคนิคการเคลือบซึ่งต้องอาศัยปฏิกิริยาเคมีในการสังเคราะห์สารเคลือบ ทั้งนี้สารเคลือบที่ได้เป็นผลลัพธ์จากการทำปฏิกิริยากันระหว่างไอเคมีตั้งต้นกับพื้นผิวที่ต้องการเคลือบโดยตรง หรืออาจเป็นการทำปฏิกิริยาระหว่างไอเคมีมากกว่าหนึ่งชนิดที่อยู่เหนือพื้นผิว แล้วเกิดเป็นสารเคลือบบนพื้นผิวที่ต้องการก็ได้ การได้สารเคลือบที่ต้องการต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในการออกแบบปฏิกิริยาเคมีเป็นอย่างดี
 
 
ภาพที่ 1 Principle and Process of CVD with Example of Al2O3
 
 
ภาพที่ 2 CVD used in cutting tools
 
 
          โดยทั่วไปกระบวนการเคลือบ CVD เริ่มต้นจากการนำชิ้นงานที่ต้องการเคลือบใส่เข้าไปในตู้เคลือบที่เป็นระบบปิดเพื่อป้องกันการรั่วไหลของไอเคมีและลดการปนเปื้อนจากอากาศภายนอก จากนั้นจึงปั๊มอากาศภายในตู้ออก โดยปั๊มสุญญากาศ (Vacuum Pump) แล้วจ่ายไอเคมีเข้าสู่ตู้เคลือบจนถึงความดันที่ต้องการ ในขณะเดียวกันก็ให้ความร้อนภายในตู้เคลือบในระดับที่เหมาะสมต่อการเกิดปฏิกิริยาเคมีการสังเคราะห์สารเคลือบ ไอเสียที่เกิดจากกระบวนการจะถูกดูดออก  เนื่องจากไอเคมีตั้งต้นที่ใช้จะแพร่กระจายและเติมเต็มช่องว่างที่อยู่ในตู้เคลือบ รวมถึงซอกหลืบต่างๆ บนผิวชิ้นงาน ส่งผลให้การเคลือบบนผิวเกิดได้อย่างทั่วถึงและมีความสม่ำเสมอสูง
          อย่างไรก็ตามการเคลือบ CVD มีข้อเสีย คือ ไอเคมีที่ใช้มักมีความอันตรายและเป็นพิษ สารเคลือบที่ได้อาจมีสารตั้งต้นเจือปนอยู่ และปฏิกิริยาเคมีส่วนใหญ่ต้องใช้ความร้อนค่อนข้างสูง (700-1100 °C)
          ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีการพัฒนาเทคนิคการเคลือบ CVD ให้สามารถทำได้ที่อุณหภูมิต่ำลง เพื่อป้องกันความเสียหายของชิ้นงานจากความร้อนที่ใช้ในกระบวนการ และมีการทดลองใช้สารเคมีตั้งต้นใหม่ๆ เพื่อให้ได้สารเคลือบที่มีคุณสมบัติตามต้องการมากขึ้น
 
1.1 การตกเคลือบด้วยไอเคมีโดยอาศัยความร้อน (Thermal CVD processes)
          เป็นกระบวนการเคลือบ CVD ที่อาศัยพลังงานความร้อนเป็นตัวก่อให้เกิดปฏิกิริยาเคมีในการสังเคราะห์สารเคลือบ แบ่งเป็นสองประเภทหลักตามความดันไอที่ใช้ในตู้เคลือบ ได้แก่ การตกเคลือบด้วยไอเคมีที่ความดันบรรยากาศ Atmospheric-Pressure CVD; APCVD) และการตกเคลือบด้วยไอเคมีที่ความดันต่ำ (Low-Pressure CVD; LPCVD)
 
1.2 การตกเคลือบด้วยไอเคมีโดยอาศัยพลาสมา (Plasma-enhanced CVD processes: PECVD)
          เนื่องจากการเคลือบด้วยกระบวนการตกเคลือบด้วยไอเคมีโดยอาศัยความร้อนต้องทำที่อุณหภูมิสูงจึงไม่สามารถใช้กับงานบางประเภทได้ เช่น การผลิตชิปวงจรรวมต้องมีการเคลือบห่อหุ้มตัววงจรรวมด้วยสารเคลือบซิลิคอนไนไตรด์เพื่อป้องกันระบบวงจรที่อยู่ภายในจากความชื้นในบรรยากาศ ซึ่งขั้นตอนนี้ไม่สามารถใช้อุณหภูมิเกิน 300°C ได้ เนื่องจากจะทำให้ชิปวงจรรวมเสียหาย ดังนั้น จึงมีการพัฒนาเทคนิคการเคลือบ CVD โดยอาศัยพลาสมา (PECVD) ขึ้นมา
          ระบบของเทคนิค PECVD มีการเพิ่มขั้วไฟฟ้าเข้าไปในตู้เคลือบซึ่งใช้ความดันไอต่ำ ความต่างศักย์ไฟฟ้าที่จ่ายระหว่างขั้วไฟฟ้าจะเหนี่ยวนำให้โมเลกุลของไอเคมีที่อยู่ระหว่างขั้วไฟฟ้านั้นแตกตัวเป็นพลาสมา เนื่องจากสารตั้งต้นที่แตกตัวและอยู่ในพลาสมามีความสามารถในการทำปฏิกิริยาที่สูงขึ้น ส่งผลให้ปฏิกิริยาเคมีการสร้างสารเคลือบเกิดได้ที่อุณหภูมิต่ำกว่าปกติมาก ดังเช่นกรณีของสารเคลือบซิลิคอนไนไตรด์ที่กล่าวมาข้างต้น สามารถสังเคราะห์ได้ที่อุณหภูมิเพียง 300 °C ในขณะที่กระบวนการ LPCVD และ APCVD ต้องใช้อุณหภูมิสูงถึง 750-900 °C
 
2. การตกเคลือบด้วยไอทางกายภาพ (Physical Vapor Deposition, PVD)
          PVD เป็นเทคนิคการสร้างฟิล์มบางที่ใช้กลไกทางกายภาพ เช่น สปัตเตอริง (sputtering) และการระเหย (Evaporation) เพื่อทำให้สารตั้งต้นกลายเป็นไอ จากนั้นไอที่เกิดขึ้นจะตกเคลือบบนสับสเตรท หรือชิ้นงาน
ปัจจุบันมีการใช้เทคนิค PVD อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมการเคลือบกระจก อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เพราะมีจุดเด่นที่กระบวนการเคลือบใช้ความร้อนต่ำ ใช้แก๊สที่ไม่เป็นพิษ และไม่ซับซ้อน วิธีที่ทำให้เกิดไอทางกายภาพแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
 
2.1 วิธีการสปัตเตอริง (Sputtering PVD)
          เป็นกระบวนการที่ทำให้อะตอมของสารตั้งต้น (Sputtering target) หลุดออก โดยทำให้ก๊าซเฉื่อย คือ อาร์กอน (Argon) ที่ป้อนเข้ามาบริเวณผิวหน้าของสารตั้งต้นเกิดสภาวะพลาสมา และไอออนของก๊าซเฉื่อยที่เกิดขึ้นจะเข้าชนผิวของสารตั้งต้นให้หลุดออกอย่างต่อเนื่องเกิดเป็นไอของสารตั้งต้น และเคลื่อนที่ไปเรียงตัวที่ผิวของสับสเตรท
 
 
ภาพที่ 3 กระบวนการเคลือบฟิล์มบางแบบ Magnetron Sputtering PVD
 
2.2 วิธีการระเหยสาร (Evaporative PVD)
          เป็นกระบวนการที่ทำให้สารตั้งต้นระเหยกลายเป็นไอ โดยให้ความร้อนแก่สารตั้งต้นด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ใช้ไฟฟ้า ใช้ลำอิเล็กตรอน (E-Beam) และแคโทดิกอาร์ก (Cathodic Arc) เป็นต้น ไอของสารตั้งต้นจะฟุ้งกระจายไปกระทบสับสเตรทแล้วเกิดการควบแน่น เกาะพอกเป็นชั้นเคลือบลักษณะคล้ายกับวิธีการสปัตเตอริง
 
 
ภาพที่ 4 กระบวนการเคลือบฟิล์มบางแบบ Evaporative PVD
 
          ไอของสารตั้งต้นที่ได้จากกระบวนการสปัตเตอริง (Sputtering) จะมีพลังงานสูงกว่าการระเหยสาร (Evaporating) มากจึงสามารถฝังในเนื้อสับสเตรทได้ดี ทำให้การยึดติดของฟิลม์บางด้วยวิธีสปัตเตอริงดีกว่าวิธีการระเหยสาร หากแรงยึดติดของฟิล์มบางกับสับสเตรทต่ำจะทำให้ฟิล์มบางหลุดออกง่าย
          เทคนิค PVD มีวิธีที่ทำให้เกิดไอของสารตั้งต้นได้หลายระบบ แต่ละระบบต่างมีข้อดีและข้อด้อยแตกต่างกันไปจึงต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับงาน
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อประสิทธิผลของฟิล์มบาง คือ ชนิดของชิ้นงาน เทคนิคการชุบแข็ง ลักษณะส่วนโค้งที่รับแรง และสภาวะการหล่อเย็น/หล่อลื่น การพิจารณาจึงต้องพิจารณาปัจจัยหลายๆอย่าง จึงควรเก็บข้อมูล และวิเคราะห์ผลไปตามลำดับ
 
 
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
 
Ref : - บทความวิศวกรรมพื้นผิว ตอนที่ 3 กระบวนการสร้างฟิล์มบางด้วยไอเคมีและไอทางกายภาพภายใต้สภาวะสุญญากาศ ประจำเดือนกรกฎาคม - กันยายน 2557, ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ
 
 
 
 
 
 
 
 
 
Home   l   About us   l   Products   l   News   l   Promotion   l   Recruitment   l   Contacts    l   Download
Copyright © 2003-2011 www.saengvith200.com All Right Reserved.